วันอังคารที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2555

ประวัติมวยไทย ๔ ภาค

....รัชสมัยกรุงธนบุรี ต่อเนื่องถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ตอนต้น ชนชาวสยาม เป็นปึกแผ่น รวมเขตแดน รวมแผ่นดินได้มากแล้ว แต่ยังไม่ว่างเว้น จากศึกสงครามใหญ่น้อย ภัยรอบบ้าน เรื่องการฝึกปรือ กลมวย เพลงดาบ จึงนับได้ว่าเป็นศิลปะประจำชาติที่สำคัญ ซึ่งคนไทยโดยทั่วไป ใส่ใจ และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัว จึงได้เกิด สำนักมวย สำนักดาบ ขึ้น แม้แต่ในพระมหาราชวัง ก็ยังมีการเรียนการสอน กระบี่กระบอง วิชามวย และพิชัยสงคราม อันเป็นหลักสูตรสำคัญ โดยเฉพาะมวยไทย ที่มีรูปแบบการใช้อวัยวะเป็นอาวุธ ทั้ง หมัด เท้า เข่า ศอก คล้ายคลึงกันทั่วประเทศ แต่ถึงกระนั้น ด้วยความเป็นชนชาติอิสระ และมีภูมิปัญญา วิชามวย ก็ได้แตกแขนง แบ่งกลุ่ม แบ่งภาค กันออกไปอย่างเด่นชัด ทั้งท่ารำร่ายไหว้ครู รูปแบบลีลาท่าย่าง ท่าครู แม่ไม้ ลูกไม้ อีกทั้งความชำนาญเรื่อง การจัก สาน ร้อย ทำให้การคาดเชือก ถักหมัด มีรูปแบบเฉพาะตัวอีกมากมาย โดยหลักใหญ่แบ่งได้ตามภูมิภาค คือ
....ภาคเหนือ มวยท่าเสา มวยเม็งราย มวยเจิง ฯลฯ มวยท่าเสา เป็นมวยเชิงเตะ คล่องแคล่ว ว่องไว ทั้งซ้ายขวา จนได้ฉายา มวยตีนลิง คาดเชือกประมาณครึ่งแขน
....ภาคอีสาน มวยโคราช มวยหลุม ฯลฯ มวยโคราช ลักษณะการ เตะ ต่อย เป็นวงกว้าง นิยม คาดเชือก ขมวดรอบแขนจนจรดข้อศอก เพื่อใช้รับการเตะ ที่หนักหน่วงรุนแรง
....ภาคกลาง มวยลพบุรี มวยพระนคร ฯลฯ มวยลพบุรี ลักษณะการชก ต่อย วงใน เข้าออกรวดเร็ว เน้นหมัดตรง การคาดเชือก จึงคาดเพียงประมาณครึ่งแขน
....ภาคใต้ มวยไชยา ฯลฯ มวยไชยา ลักษณะการรุก-รับ รัดกุม ถนัดการใช้ศอกในระยะประชิดตัว การคาดเชือกจึงนิยมคาดเพียง คลุมรอบข้อมือ เพื่อกันการซ้น หรือเคล็ด เท่านั้น
....สาวประวัติมวยดัง 4 ภาค เริ่มจากภาคเหนือ "มวยท่าเสา" สร้างชื่อยุคกรุงธนบุรี นับแต่พระยาพิชัยดาบหักจัดแข่งขันชกมวยเสมอๆ บนสังเวียนลานดิน ชื่อเสียงดีก็มีมีนายเมฆบ้านท่าเสา นายเที่ยงบ้านเก่ง นายแห้วแขวงเมืองตาก นายนิลทุ่งยั้ง นายถึกศิษย์ครูนิล ถึง พ.ศ.2472 นายแพ เลี้ยงประเสริฐ จากบ้านท่าเสา อุตรดิตถ์ ชกนายเจีย แขกเขมรตายด้วยหมัดคาดเชือก ทำให้รัฐบาล (สมัยรัชกาลที่ 7) มีคำสั่งให้การชกมวยไทยทั่วประเทศเปลี่ยนจากคาดเชือกเป็นสวมนวม
ภาคอีสาน "มวยโคราช"มีบันทึกว่าเฟื่องฟูสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นมวยต่อยวงกว้างเรียกกันว่าเหวี่ยงควาย ด้ายดิบคาดหมัดแล้วขมวดรอบๆ แขนจนจรดข้อศอกเพื่อป้องกันการเตะ ที่เลื่องลือได้แก่เจ้าฉายา หมื่นชงัดเชิงชก คือนายแดง ไทยประเสริฐ จากเมืองโคราช เตะรุนแรง หมัดเหวี่ยโด่งดัง อีกคนคือนายยัง หาญทะเล จากวังเปรมประชากรของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ผู้สอนท่ารำหนุมานควานสมุทรให้ (สมัยรัชกาลที่ 6)
ภาคกลาง "มวยลพบุรี" มีชื่อเสียงรัชกาลที่ 5 เช่นกัน ในงานพระเมรุกรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ณ ท้องทุ่งพระเมรุป้อมเผด็จดัสกร กรุงเทพฯ มีการตีมวยหน้าพระที่นั่งครั้งใหญ่ เลื่องชื่อว่าเป็นมวยชกหมัดตรงดี ต่อยแหวกการคุมได้ดีกว่ามวยถิ่นอื่น คาดหมัดเพียงครึ่งแขนใช้ด้ายผ้าดิบ ครูมวยคนดังเจ้าฉายา หมื่นมวยแม่นหมัด คือนายกลิ้ง ไม่ปรากฏสกุล จากเมืองลพบุรี ผู้มีลีลาการชกฉลาด รุกรับ หลบหลีกว่องไว ใช้หมัดตรงดียอดเยี่ยม
ภาคใต้ "มวยไชยา" เจ้าฉายา หมื่นมวยมีชื่อ คือนายปล่อง จำนงทอง ผู้มีท่าเสือลากหางเป็นอาวุธสำคัญ ทั้งเน้นวงในใช้ความคมของศอก เข่า ประวัติมวยไชยาสืบค้นได้ถึงพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยาในแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ถ่ายทอดมายังบุตรชายคือปรมาจารย์เขตร์ ศรียาภัย ซึ่งภายหลังย้ายมาตั้งรกรากในกรุงเทพฯ เผยแพร่มวยไชยาแก่ศิษย์มากมายกระทั่งจากไปในปี 2521

มวยไชยา เป็นศิลปะมวยไทยประจำถิ่นอำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีชื่อเสียงมากสมัยรัชกาลที่ 5 - 6 จนมีนักมวยจากไชยาได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหมื่นมวยมีชื่อ
เนื้อหา
[แก้] ประวัติ
[แก้] กำเนิดมวยไชยา
มีวัดเก่าแก่อรัญญิกชื่อวัดทุ่งจับช้าง เป็นวัดรกร้างอยู่ในป่าริมทางด่านเดิมที่จะไปอำเภอไชยา วัดนี้มีชื่อเสียงเพราะสมภารซึ่งชาวบ้านเรียกว่า พ่อท่านมา เป็นชาวกรุงเทพฯได้หลบหนีไปอยู่เมืองไชยาด้วยเรื่องใดไม่ปรากฏ พ่อท่านมาได้ฝึกสอนวิชามวยไทยแก่ชาวไชยาจนขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองมวย แม้ทุกวันนี้นักมวยที่ปรารถนาความสวัสดีมีชัย ต้องร่ายรำมวยเป็นการถวายคารวะหน้าที่บรรจุศพก่อนที่จะผ่านไป มวยสุราษฎร์ฯหรือมวยไชยาจึงมีชื่อเสียงตลอดมา
มวยไทยไชยา จากหลักฐานและคำบอกเล่านั้นเริ่มต้นที่ พ่อท่านมา ไม่มีใครทราบว่าท่านมีชื่อจริงว่าอย่างไร ทราบแต่เพียงว่าท่านเป็น ครูมวยใหญ่ จากพระนคร บ้างก็ว่าท่านเป็น ขุนศึก แม่ทัพแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ชาวเมืองจึงเรียกเพียงว่า พ่อท่านมา ท่านได้เดินทางมาที่เมืองไชยา และได้ถ่ายทอดวิชาการต่อสู้ไว้ให้แก่ชาวเมือง และศิษย์ที่ทำให้ มวยเมืองไชยา เป็นที่รู้จักมากที่สุดในยุค ร.5 คือ พระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย)
ปรมาจารย์ เขตร ศรียาภัย เคยกล่าวไว้ว่า ท่าย่างสามขุม ของหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) อาจารย์โรงเรียนสวนกุหลาบฯ พ.ศ. 2464 (ซึ่งเป็นศิษย์เอกของ ปรมาจารย์ พระไชยโชคชกชนะ (อ้น) เจ้ากรมทนายเลือกครูมวยและครูกระบี่กระบองผู้กระเดื่องนาม ในรัชสมัย ร.5) และปรมาจารย์ ขุนยี่สานสรรพยากร (ครูแสงดาบ) ครูมวยและครูกระบี่กระบอง ลือชื่อ ในสมัย ร.6 นั้นมีความกระชับรัดกุม ตรงตามแบบท่าย่างสามขุมของ ท่านมา (หลวงพ่อ) ครูมวยแห่งเมืองไชยา ท่านนับเป็นต้นสายของมวยไชยา มรดกอันล้ำค่าของคนไทย
[แก้] ศาลาเก้าห้อง
หลังจากที่กำเนิดมวยไชยาขึ้นแล้ว กิจการด้านนี้ก็เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับการชกมวยจึงเป็นกีฬาสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับเทศกาล, งานฉลองหรือสมโภชต่างๆ และมาเจริญสูงสุดครั้งหนึ่งคือสมัยศาลาเก้าห้อง
ศาลาเก้าห้องนี้ตั้งอยู่ในท้องที่ตำบลพุมเรียง สร้างโดยพระยาวจีสัตยารักษ์ สร้างขึ้นเป็นสาธารณสมบัติศาลานี้สร้างขนานกับทางเดิน (ทางด่าน) มีเสาไม้ตำเสา 30 ต้น เสาด้านหน้าเป็นเหลี่ยม แถวกลางและแถวหลังเป็นเสากลม ระหว่างเสาสองแถวหลังยกเป็นพื้นปูกระดานสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร ส่วนระหว่างแถวหน้ากับแถวกลางเป็นพื้นดิน ยาวจากทิศตะวันออกไปทิศตะวันตก ยาวประมาณ 13 วา 2 ศอก ส่วนกว้างประมาณ 3 วา หลังคาลิลา มุงสังกะสี มีบ่อน้ำทางทิศตะวันตก 1 บ่อ
ปัจจุบันศาลาเก้าห้องเดิมได้ถูกรื้อถอนโดยนายจอน ศรียาภัย ลูกคนที่สามของพระยาวจีสัตยารักษ์ เมื่อออกจากราชการกรมราชทัณฑ์และกลับไปอยู่บ้านเดิมที่ไชยายังคงเหลือไว้แต่เพียงบ่อน้ำซึ่งแต่เดิมกรุด้วยไม้กระดาน และต่อมาราษฎรได้ช่วยกันสละทรัพย์หล่อซีเมนต์เสร็จ เมื่อปี 2471 และสร้างศาลาใหม่ขึ้นที่ด้านตะวันออกของศาลาเดิมแต่มีขนาดเล็กกว่ายังคงมีอยู่กระทั่งปัจจุบัน
นอกจากจะใช้เป็นที่พักคนเดินทางแล้ว ศาลาเก้าห้องแห่งนี้ยังใช้เป็นที่สมโภชพระพุทธรูป เนื่องในงานแห่พระพุทธทางบกในเดือน 11 ของทุกปีประจำเมืองไชยาอีกด้วย และในงานแห่พระพุทธรูปทางบกและงานสมโภชนี้ ที่ขาดไม่ได้คือการชกมวยเป็นการสมโภชเป็นประจำทุกปีด้วย
[แก้] การชกมวยที่ศาลาเก้าห้อง
เมื่อถึงเทศกาลแห่พระบกประจำปี จะมีการแห่พระมาที่ศาลาเก้าห้องและทำการสมโภชที่นั่น ประชาชนทั่วไปรวมทั้งเจ้านายก็ไปพร้อมกันที่ศาลาเก้าห้องแห่งนี้ ในการนี้นักมวยของแต่ละแห่งก็จะเดินทางเพื่อจับคู่ชกกัน
เมื่อการแห่พระพุทธรูปมาถึงศาลาเก้าห้องก็เริ่มพิธีสมโภช ครั้นเวลานักมวยจะไปชุมนุมกันหน้าศาลา โยมีพระยาไชยาเป็นประธาน การจับคู่มวยในสมัยนั้นไม่มีการชั่งน้ำหนักเพียงแต่ให้รูปร่างพอฟัดพอเหวี่ยงกันก็เป็นการใช้ได้ หรือถ้ารูปร่างต่างกันมาก ก็ต้องแล้วแต่ความสมัครใจของคู่ต่อสู้ เพราะคนสมัยก่อนไม่เหมือนกับคนสมัยนี้ บางคนโกรธกันก็ถือเอาโอกาสนี้มาต่อสู้กันตัวต่อตัวต่อหน้าประธาน
[แก้] การแต่งกายของนักมวย
การพันหมัด ที่เรียกว่าหมัดถักนั้นเมื่อผู้ใดได้คู่ชก ทางฝ่ายจัดรายการ จะแจกด้ายขนาดโตคนละม้วน เมื่อได้ด้ายดิบแล้วนักมวยก็จะนำด้ายดิบนั้นเข้าพุ่มไปให้พรรคพวกช่วยกันจับเป็นจับๆ (หนึ่งจับเล็กกว่าปลายนิ้วก้อยเล็กน้อย) แล้วตัดออกเป็นท่อนๆยาวประมาณ 4-5 เมตร ชั้นแรกที่จะพันมือจะใช้ผ้าเรียบพันมือก่อน ชั้นที่สองซึ่งจะพันด้วยด้ายดิบซึ่งพรรคพวกจะขวั้นเป็นเกลียวจนเกิดเป็นปมอยู่ทั่วไป แล้วพันด้วยผ้าเรียบ แล้วพันด้วยด้ายที่ถูขวั้นเป็นเกลียวจนเกิดปม พันสลับกันเช่นนี้หลายชั้น การพันมือจะพันจนถึงข้อมือเท่านั้นส่วนปลายนิ้วมือจะพันขึ้นไปพอถึงข้อนิ้วแรก ให้กำหมัดได้สะดวก และขณะที่พันมืออยู่นั้น จะต้องใช้ปลายนิ้วมือคอยแหย่ไว้ตามช่องนิ้วมือระวังไม่ให้แน่นจนเกินไป เพราะถ้าแน่นจะทำให้กำหมัดไม่แน่นเวลาชก ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายถึงนิ้วมือหักในขณะต่อสู้เมื่อชกโดนคู่ต่อสู้จังๆ โดย นักมวยไชยา จะคาดเชือกแค่บริเวณข้อมือ ส่วนนักมวยสายอื่น ๆ เช่น นักมวยโคราช จะคาดเชือกถึงบริเวณข้อศอกเพื่อใช้รับอวัยวุธต่างๆของคู่ต่อสู้ และ นักมวยสายลพบุรีหรือนักมวยภาคกลางอื่นๆเช่น มวยพระนคร จะคาดเชือกถึงบริเวณกลางแขน
การพันลูกโปะ (กระจับ) ในการพันลูกโปะจะใช้ผ้าสองผืน ผืนแรกจะใช้ผ้าขาวม้าก็ได้ หรือผ้าชนิดอื่นที่ยาวพอสมควร ผืนที่สองจะใช้ผ้าอะไรก็ได้ วิธีพันจะใช้ผ้าผืนแรกต่างเข็มขัด ปล่อยชายข้างหนึ่งยาวปลายข้างหนึ่งจะผูกเป็นปมหมดชายผ้า ปล่อยข้างยาวลงไปข้างล่าง ส่วนผืนที่สองจะม้วนเป็นก้อนกลม (คล้ายม้วนทูนหรือผ้าที่ม้วนรองบนศีรษะขณะทูนของที่ก้นไม่เรียบ) ใช้ผ้าผืนนี้วางลงทับแทนกระจับ ใช้ชายผ้าที่ปล่อยให้ห้อยลงของผืนแรกคาดทับลงไป แล้วเต้าชายผ้าส่วนนั้นเข้าระหว่างขาดึงให้ตึงไปผูกชายที่เหลือเข้ากับส่วนที่ผูกแทนเข็มขัดที่ด้านหลัง
ประเจียด เป็นเครื่องสวมศีรษะลักษณะเฉพาะของนักมวยไชยา ส่วนนักมวยภาคอื่นจะสวม"มงคล"แทน ประเจียดนั้นจะทำเป็นลักษณะแบนๆมากกว่าทำให้กลมมีการลงคาถาอาคม ลงเครื่องป้องกันต่างๆ ขณะชกถ้าประเจียดหลุดก็ยกมือขอเก็บมาสวมเสียใหม่ได้ วัตถุประสงค์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ก็คือการป้องกันมิให้เส้นผมลงปิดหน้าในขณะที่กำลังทำการต่อสู้
[แก้] กติกา
สำหรับในการต่อสู้ใช้แม่ไม้มวยไทยได้ทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็น หมัด เท้า เข่า ศอกในการต่อสู้ใช้จำนวนยก 5 ยก และใช้ยกเวียน หมายความว่าวันนั้นจับมวยได้กี่คู่ (ส่วนใหญ่ 5 6 คู่) ก็จะชกกันคู่ละ หนึ่งยก โดยคู่ที่ 1 ชกยกที่ 1 ก็เข้าพุ่ม (ที่สำหรับพักนักมวย) คู่ที่ 2 ขึ้นชกยกที่ 1 และยกที่ 1 จนไปถึงคู่สุดท้าย คู่ที่ 1 จึงจะชกยกที่ 2 แล้วเวียนไปจนถึงคู่สุดท้าย คู่ที่ 1 จึงขึ้นชกยกที่ 3การชกจะปฏิบัติเช่นนี้จนครบ 5 ยก แต่ถ้ามีคู่ใดแพ้ชนะก่อนกันก็ตัดคู่นั้นไป ส่วนที่เหลือก็จะเวียนไปดังที่กล่าวมาแล้ว กติกาการหมดยกมี 2 แบบคือ
ก. แบบที่ 1 เมื่อมีฝ่ายใดเพลี่ยงพล้ำ ไม่สามารถป้องกันตัวได้ ก็ยกมือขอบอกเวลาหมดยก เพื่อเข้าพุ่มแก้ไขอาการที่เพลี่ยงพล้ำนั้น และคำว่า ยกที่ใช้กันในทุกวันนี้ก็น่าจะมีความเป็นมาจากอาการที่ยกมือดังกล่าวแล้วก็อาจเป็นได้
ข. แบบที่ 2 ในขณะชกเขาจะใช้ลูกลอยเจาะก้นลอยน้ำแบบที่ใช้ในการชนไก่แต่เดิม เมื่อลูกลอยจมน้ำเจ้าหน้าที่ก็จะตีกลองบอกหมดยก เพื่อให้คู่ต่อสู้ได้เข้าพุ่มเพื่อแก้ไข ให้น้ำและแนะนำการแก้ลูกไม้มวยส่วนคู่ต่อไปก็จะขึ้นชกกันต่อไป
สำหรับดนตรีที่ใช้มีปี่และกลองยาวประโคมก่อนและขณะทำการต่อสู้
[แก้] ทุ่ม-ทับ-จับ-หัก ในมวยคาดเชือก
ทุ่ม ทับ จับ หัก ในมวยคาดเชือกนั้นเป็นกลมวยชั้นสูง ที่ผู้ฝึกจะต้องเรียนรู้พื้นฐาน การบริหารร่างกายเพื่อพาหุยุทธ์พร้อมฝึกฝนท่าย่างสามขุมตามแบบของแต่ละครู เรียก'ท่าครู'รวมทั้งแม่ไม้ต่าง ๆ เช่นการออกอาวุธ ป้องปัดปิดเปิด ป้องกัน ตอบโต้ให้เชี่ยวชาญดีแล้ว จึงจะสามารถแตกแม่ไม้กล ลูกไม้ กลรับ กลรุก ล่อหลอก หลบหลีก ทั้งยังต้องฝึกซ้ำแล้วซ้ำอีกเพื่อให้ใช้ออกไป จึงจะเกิดความคม เด็ดขาด รุนแรง ท่วงท่าลีลางดงาม เข้มแข็งดังใจ
เช่นท่าครูมวยไชยา(ท่าย่างสามขุมคลุมแดนยักษ์)นั้นได้ชื่อว่ามีความรัดกุมเฉียบคม จนสามารถชนะการแข่งหน้าพระที่นั่งสมัย ร.5 เมื่อคราวจัดให้มีงาน ณ ทุ่งพระเมรุ ป้อมเผด็จดัสกร กรุงเทพฯ คือ นายปล่อง จำนงทอง ที่สามารถใช้ 'ท่าเสือลากหาง' โจนเข้าจับ ทุ่มทับจับหักปรปักษ์จนมีชัย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น 'หมื่นมวยมีชื่อ' ท่าที่ใช้จับทุ่มรับการจู่โจมด้วย เตะ ถีบ เข่า อย่าง ' ถอนยวง' นั้น สามารถทุ่มโยนปรปักษ์ออกไป หรีบจับกดหัวให้ปักพื้นแล้วทับด้วยก้นหรือเข่าได้ หากเป็นการรุกด้วยหมัดนั้นให้แก้ด้วย ' ขุนยักษ์พานาง' หรือ 'ขุนยักษ์จับลิง' ศอกแก้ด้วย 'พระรามหักศร' และยังมีท่าอื่น ๆ อีกมาก ที่ครูบาอาจารย์แต่โบราณท่านมิได้กำหนดชื่อเอาไว้ ทั้งหมดนี้ผู้ใช้จำต้องรู้เคล็ดป้องปัดปิดเปิด และกลประกบประกับจับรั้ง เป็นท่าร่วมเพื่อเข้าจับหักด้วยมือ หรือเกี้ยวกวัดด้วยท่อนแขน ฯลฯ
[แก้] เวทีชกมวย
การชกมวยไชยา ในยุคแรกชกที่ศาลาเก้าห้อง โดยที่ศาลาเก้าห้องมีบริเวณที่ชกมวยก็คือสนามหน้าศาลา จะมีเจ้าหน้าที่ปักหลักสี่หลักแล้วใช้เชือกป่านขนาดใหญ่(เชือกพวน)ขึงกับหลักสามสี่สาย โดยในศาลาจะมีเจ้านาย และเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆของเมืองไชยาจะพักอยู่ในศาลาเพื่อชมการชกมวยทุกครั้งไป
[แก้] เวทีมวยวัดพระบรมธาตุไชยา
เมื่อการชกมวยที่ศาลาเก้าห้องต้องมีอันล้มเลิก เนื่องมาจากศาลากลางถูกย้ายไปอยู่ที่บ้านดอน พระยาไชยาก็ไปเป็นเจ้าเมืองที่บ้านดอนดังที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นรวมทั้งได้ย้ายที่ว่าการอำเภอมาไว้ที่อำเภอไชยาในปัจจุบันก็เกิดสนามมวยแห่งใหม่ขึ้นที่บริเวณสนามวัดพระบรมธาตุ เพราะในสมัยนั้นวัดพระบรมธาตุมีงานประจำปีในเดือน 6 ของทุกปี การจัดให้มีการชกมวยก็ขึ้นที่สนามแห่งนี้ด้วย โดยครั้งแรกชกบนลานดินเหมือนที่ศาลาเก้าห้อง ที่ตั้งสนามอยู่ระหว่างพระเวียนกับถนนที่ตัดผ่านหน้าวัด ซึ่งถนนที่ผ่านทุกวันนี้แต่สมัยนั้นยังไม่มีกำแพงแก้วเหมือนปัจจุบัน การชกและกติกาก็เหมือนที่ศาลาเก้าห้องทุกประการ จะต่างกันที่สนามวัดพระบรมธาตุมีการเก็บเงิน โดยใช้ปีกเหยี่ยว (ใบตาลโตนดผ่าซีกแล้วแล้วโน้มมาผูกติดกับก้านใบ) กั้นเป็นบริเวณสนามและเนื่องจากกีฬามวยเป็นที่สนใจของประชาชนโดยทั่วไป พระครุโสภณเจตสิการา (เอี่ยม) เห็นว่ามีหนทางที่จะเก็บเงินเป็นรายได้บำรุงวัด จึงดำริคิดสร้างเวทีมวยถาวรขึ้นที่สนามมวยแห่งนี้ โดยให้นายภักดิ์ ลำดับวงค์ เป็นผู้ออกแบบก่อสร้าง นายจอน แสงสิทธิ์ เป็นนายช่าง นายร่วง เชิงสมอ เป็นลูกมือช่าง และสร้างเสร็จในปี 2474 โดยท่านพระครูโสภณเจตสิการามเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย ทั้งสิ้น ประมาณ 500 บาท
เวที่ใหม่แห่งนี้ใช้ทางเหนือของสถานที่เดิมไปเล็กน้อย โดยเลื่อนใกล้ถนนเข้าไปอีก ลักษณะของเวที เป็นเสาปูนซีเมนต์เสริมเหล็กหน้า 8 นิ้ว จำนวน 4 ต้นกว้างและยาวด้านละ 4 วา เทคอนกรีตเท่าหน้าเสาทั้ง 4 ด้าน สูงจากพื้นดินประมาณ 1 เมตร ตรงกลางถมดิน เสาสูง 6 ศอก หลังคามุงสังกะสี ไม้ที่ใช้เป็นไม้หลุมพอโดยตลอดเฉพาะเครื่องทำหลังคา
[แก้] สมัยเริ่มแรก
การชกยกเลิกหมัดถักมาใช้นวม ยกเลิกยกเวียนมาเป็นยกตลอด คือแต่ละคู่ชกกันจนครบ 5 ยก แล้วจึงเป็นการชกของคู่ต่อไป กติกาการชกเหมือนปัจจุบัน
การจัดสนามและเวที สนามจะกั้นด้วยผ้าขาว เวทีกั้นเชือกแบบปัจจุบัน รอบขอบเชือกด้านนอกจนติดขอบคอนกรีตมีต้นกล้วยวางเรียงโดยรอบเพื่อป้องกันอันตรายให้แก่นักมวย พื้นเวทีซึ่งถมดินไว้ถูกปูทับด้วยแกลบหรือฟางข้าวแล้วปูทับด้วยกระสอบป่าน ซึ่งต่อมาจึงได้เปลี่ยนมาใช้ผ้าใบ
การจับเวลา ใช้นาฬิกา การให้สัญญาณการชกและหมดเวลาใช้ระฆังของโรงเรียนวัดพระบรมธาตุ
เครื่องดนตรีใช้ปี่เป็นหลักและใช้กลองยาวช่วยในการประโคม
เครื่องขยายเสียงไม่มีใช้ ต้องใช้โทรโข่งทั้งประกาศและพากย์มวย นายชม จุลกัลป์ เป็นผู้ประกาศประจำเวทีเป็นคนแรก
กรรมการ กรรมการห้ามมวยคนแรกของเวที คือ นายอมโร อมรบุตร คนที่สอง คือ นายพันธ์ ทิพย์มณี สมัยดำรงตำแหน่งปลัดอำเภอท่าฉาง คนต่อมาคือ นายชม จุลกัลป์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประจำแผนกอยู่ที่ว่าการอำเภอไชยา
[แก้] สมัยสิ้นสุด
หลังจากพ้นยุคแรกมาการชกก็มีการเปลี่ยนแปลงจนเข้ารูปแบบของปัจจุบันทุกประการ แต่เมื่อสิ้นสมัยของพระครูโสภณเจตสิการาม(เอี่ยม) ท่านเจ้าคุณพุทธทาส (ในสมัยนั้น) ก็ให้ยกเลิกงานมหรสพและงานประจำปี คงรักษาไว้แต่พิธีทางศาสนา แต่ก็มีผู้คิดเปลี่ยนสถานที่ชกและสถานที่จัดงานไปไว้ที่สนามหน้าที่ว่าการอำเภอไชยา แต่จัดได้ไม่กี่ปีก็ต้องมีอันล้มเลิกการจัดงานนั้นไป ซึ่งหลังจากนั้นก็มีการชกมวยในงานต่างๆจนกระทั่งถึงทุกวันนี้
นักมวยฝีมือเอกของไทยที่เคยผ่านการชกที่เวทีแห่งนี้มีหลายราย อาทิ จำเริญ ทรงกิตรัตน์, โกต๊อง แก้วอำไพ, กลยุทธ ลูกสุรินทร์, บุญธรรม แสงสุเทพ, ไสว แสงจันทร์ และ เชิด จุฑาเพชร
[แก้] การรื้อถอนเวที่แห่งนี้
สาเหตุที่ต้องทำการรื้อถอนเวทีแห่งนี้ ก็เพื่อที่จะเตรียมสถานที่เพื่อรับเสด็จ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ในคราวยกพระสุวรรณฉัตรพระบรมธาตุไชยา เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2525 โดยทำการรื้อถอนเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2524 ผู้ควบคุมการรื้อถอนได้แก่ นายนุกูล บุญรักษา ครูใหญ่โรงเรียนวัดพระบรมธาตุ ซึ่งอดีตเคยเป็นนักมวยฝีมือดีที่เคยผ่านการชกที่เวทีแห่งนี้มาก่อน ท่านบอกว่าเสียดายของเก่าแต่จำเป็นที่ต้องรื้อถอน
[แก้] รางวัล
ในการชกสมัยนั้น เป็นการชกเพื่อสมโภชพระที่แห่ทางบกเป็นประจำทุกปี แต่ฝ่ายผู้จัดให้มีมวยในครั้งนั้นซึ่งทุกคนจะกล่าวเช่นเดียวกันว่าเงินรางวัลที่ได้จะได้จากพระยาไชยา เพราะในสมัยนั้นการชกมวยไม่มีการเก็บเงิน ดังนั้นรางวัลที่ได้จะมีไม่มากนัก คนละบาทสองบาทหรือมากกว่านั้นก็ต้องแล้วแต่ฝีมือหรือการต่อสู้แต่ละคู่หรือความพอใจของเจ้านาย แต่ส่วนใหญ่จะได้เท่ากัน ครั้นเมืองไชยาถูกรวมกับเมืองกาญจนดิษฐ์และย้ายศาลากลางไปไว้ที่บ้านดอน พระยาไชยาได้รับการโปรดเกล้าให้เป็นเจ้าเมืองที่บ้านดอน เมืองไชยาจึงไม่มีเจ้าเมืองตั้งแต่นั้นมา การชกมวยที่ศาลาเก้าห้องก็ต้องมีอันล้มเลิกไป แต่เนื่องจากไชยาเป็นเมืองมวย ก็ย่อมจะมีการชกมวยเกิดขึ้นที่แห่งใหม่ และสถานที่แห่งนั้นได้แก่สนามมวยวัดพระบรมธาตุไชยา
[แก้] กองมวย
ตั้งแต่ที่มีการชกมวยที่ศาลาเก้าห้องแล้วนั้นเมืองไชยาได้เกิดมีกองมวยที่สำคัญเกิดขึ้น 4 กอง คือกองมวยบ้านเวียง กองมวยปากท่อ กองมวยบ้านทุ่ง กองมวยพุมเรียง แต่ละกองจะมีนายกอง 1 คน ถ้าเป็นปัจจุบันก็ได้แก่หัวหน้าคณะมวย และนายกองมีหน้าที่รับผิดชอบนักมวยในกอง เพราะนักมวยในกองจะได้รับสิทธิ์พิเศษต่างๆตามความสำคัญ ดังนี้
เฉพาะกองมวยของหมื่นมวยมีชื่อ (ปล่อง จำนงทอง) ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีรัชชูฯ จำนวน 25 คน ส่วนที่เหลือต้องเสียภาษีนี้คนละ 4 บาทเหมือนบุคลอื่นทั่วไป
การใช้กำลังโยธา (การเกณฑ์ใช้แรงงาน) กล่าวคือในสมัยนั้นมีการเกณฑ์ใช้แรงงานเพื่อสร้างทางหรือสาธารณะสมบัติอื่นๆ ทุกคนในเมืองไชยาย่อมถูกเกณฑ์แรงงานไปใช้โดยไม่มีค่าตอบแทนเป็นเงินทองหรือสิ่งของทุกคนจะต้องไปทำงานตามการเกณฑ์นั้น ยกเว้นบุคคลที่อยู่ใน กองมวยซึ่งจะไม่ถูกเกณฑ์แรงงานเหมือนคนทั่วๆไป
บุคคลในกองมวย มีหน้าที่ฟิตซ้อมมวย และเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อที่จะเดินทางไปชกทุกแห่งตามที่ทางราชการต้องการ อย่างเช่นงานเฉลิมฯที่บ้านดอน งานรับเสด็จรัชกาลที่ 6 ที่บนควนท่าข้าม (พุนพิน) นายกองมวยจะต้องนำนักมวยของแต่ละกองไปชก แต่การไปนั้นได้รับการยืนยันว่า นักมวยที่ไปจะได้รับเบี้ยเลี้ยง ตามลำดับดังนี้ คือ 3 บาท 2 บาท 1 บาท และ 50 สตางค์ เช่นหมื่นมวยมีชื่อจะได้วันละ 3 บาท นายกองอื่น 2บาท นักมวยสำคัญคนละ 1 บาท ส่วนนักมวยสำรองหรือลูกน้องจะได้คนละ 50 สตางค์ และจะได้รับเบี้ยเลี้ยงจนกว่างานนั้นจะเลิกหรือถึงวันกลับ
จะเห็นได้ว่านักมวยมีค่าและมีความหมายมากในสมัยนั้น เป็นบุคคลที่มีเกียรติ ดังนั้นในการเข้ากองมวย นายกองจะเป็นผู้พิจารณาจากรูปร่างของผู้ที่มาสมัครว่าพอจะเป็นนักมวยได้หรือไม่ และก็มีมากเหมือนกันที่เข้ากองมวยโดยหวังสิทธิ์พิเศษ แต่มีข้อแม้ที่น่าสังเกตคือบุคคลที่จะเข้ากองมวยได้ต้องซ้อมจริง ใครหลบหลีกนายกองมีสิทธิ์คัดชื่อออกทันที การคัดชื่อออกทำให้เสียสิทธิ์ที่กล่าวมาแล้วนั้นด้วย
[แก้] ค่ายมวยที่สำคัญของไชยาและนักมวยเอกของค่าย
ค่าย ศ.ปักษี เป็นค่ายมวยที่เก่าแก่มาก ผู้ให้กำเนิดค่ายนี้ได้แก่ นายนิล ปักษี นักมวยฝีมือเยี่ยมลูกศิษย์พระยาไชยา นักมวยเอกของค่ายนี้ได้แก่ นายเนียม ปักษี ลูกชายนายนิล ปักษี, นายพรหม ราชอักษร, ผู้เคยปะทะนักมวยฝีมือเยี่ยมจากเมืองกรุง เช่น สวย จุฑาเพชร, ไสว แสงจันทร์, เลื่อน ภู่ประเสริฐ และ ทองอยู่ ทวีสิน ปัจจุบันยังมีคนลูกหลานของสกุลปักษีบวชเป็นเจ้าอาวาสวัดพุมเรียง
ค่ายชัยภิรมย์ ผู้ก่อตั้งค่ายมวยนี้ได้แก่ นายนุ้ย อักษรชื่น สาเหตุที่ตั้งค่ายมวยเพราะเห็นว่าขาดครูมวยทีจะฝึกหัดเด็กหนุ่มๆในหมู่บ้านและเห็นว่าวิชามวยจะสูญหายไป จึงตัดสินใจตั้งค่ายมวย โดยเฉพาะนายนุ้ยเองเป็นศิษย์คนหนึ่งซึ่งเคยฝึกมวยมาจากหมื่นมวยมีชื่อและสาเหตุที่ตั้งชื่อค่ายว่า ชัยภิรมย์ก็เพราะเป็นฉายาของนายนุ้ยที่ได้มาจากจังหวัดภูเก็ตคราวชกกับนายเปลื้อง นักชกจากกรุงเทพฯและได้รับชัยชนะเพราะเป็นคนใจเย็นชกด้วยความสุขุมรอบคอบ สำหรับนักมวยเอกของค่ายนี้ก็มีหลายคนเช่น นายหนูเคลือบ พันธุมาศ ผู้ใช้ชื่อในการชกมวยว่า สมจิต และเคยเดินทางเข้าชกในกรุงเทพฯ โดยใช้ชื่อสมจิต ฉวีวงค์ (เท่ง) ปัจจุบันท่านผู้นี้บวชอยู่ ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา (บวชที่วัดหน้าเมืองปัจจุบันเป็นวัดร้าง)
ค่ายวงค์ไชยา ผู้ตั้งค่าย วงค์ไชยา คือ นายจ้อย เหล็กแท้ เป็นศิษย์คนหนึ่งของนายนิล ปักษี เหตุที่ตั้งชื่อวงค์ไชยา เพราะตอนเดินทางเข้าชกมวยที่กรุงเทพฯ แม่คุณ” (เป็นคำเรียกคุณนายชื่น ศรียาภัย ของนายจ้อย) เป็นผู้ตั้งชื่อชกมวยให้ว่า เนียม วงค์ไชยา และที่ให้ชื่อเช่นนั้นก็เพื่อให้เป็นที่ระลึกของบ้านเกิดของแม่คุณคือไชยา จึงถือเอา วงค์ไชยาเป็นมงคลนามมาตั้งเป็นค่ายเพื่อฝึกหัดศิษย์ ครูมวยของค่ายนี้นอกจากนายจ้อยเองแล้ว ยังมีผู้ช่วยอีกคน คือนายบุญ แห่งบ้านขนอน แต่ใช้ชื่อคณะว่า ศ.วงค์ไชยานักมวยที่มีชื่อเสียงมากคือ นายปรีชา แห่งบ้านขนอน ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา สำหรับคณะมวย ศ.วงค์ไชยาตั้งอยู่ที่บ้านขนอน
ค่ายบำรุงหิรัญ คณะบำรุงหิรัญตั้งค่ายอยู่ที่บ้านท่าโพธิ์ หมู่ที่ 1 ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา ผู้ตั้งคณะมวยนี้คือนายจ้วน หิรัญกาญจน์ นักมวยเสื้อสามารถเวทีวัดพระบรมธาตุ โดยฝึกมวยมาจากนายน้าว ซึ่งเคยเข้าชกโชว์ฝีมือในเมืองกรุงมาแล้วสมัยหนึ่ง และเคยรับพระราชทานหน้าเสือมาแล้ว สาเหตุที่ต้องตั้งค่ายมวย ก็เพื่อฝึกเด็กรุ่นหนุ่มบ้านท่าโพธิ์ และอีกสาเหตุหนึ่งก็เพราะเวทีมวยวัดพระบรมธาตุได้ห้ามไม่ให้นักมวยที่ไม่มีชื่อคณะขึ้นชก นักมวยเอกของค่ายนี้มี
ทักษิณ บำรุงหิรัญ (เพชรสุวรรณ) เสียชีวิตแล้ว
เช่ บำรุงหิรัญ (อินทจักร) เสียชีวิตเล้ว
ยี้ บำรุงหิรัญ (อินทจักร) ปัจจุบันมีภูมิลำเนาอยู่ที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
เที่ยง บำรุงหิรัญ (อินทจักร) ปัจจุบันมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดตรัง
ปลอด บำรุงหิรัญ (มณีรัตน์) เจ้าของฉายาไอ้มนุษย์รถถัง ปัจจุบันอยู่บ้านเลขที่ 24 หมู่ที่ 3 ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา
วัชระ บำรุงหิรัญ (สินธวาชีวะ) ปัจจุบันอยู่บ้านปากท่อ ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา
ประยงค์ บำรุงหิรัญ (ศรีสุวรรณ) ไอ้จอมทรหดของค่าย ปัจจุบันอยู่ที่บ้านทุ่ง ตำบลทุ่ง อำเภอไชยา
คณะ ณ.ศรีวิชัย ผู้ก่อตั้งค่ายนี้ คือนายบุญส่ง เทพพิมล โดยเริ่มหัดมวยจากคุณตา อดีตนายกองมวยบ้านเวียง คือคุณตาเริก ส่วนคุณปู่ก็เป็นนักชกฝีมือเยี่ยม คือ ปู่นุช เหตุที่ตั้งค่ายมวยก็เหมือนกับค่ายบำรุงหิรัญ แต่ที่ตั้งชื่อเช่นนั้นเพราะบ้านเวียงเป็นที่ตั้งเมืองเก่าสมัยศรีวิชัย และลานฝึกซ้อมก็อยู่ในบริเวณกำแพงเมืองสำหรับนักมวยเอกของค่ายมี
วีระ ณ ศรีวิชัย (ให้ บุญเหมือน) นักชกหมัดหนักของค่าย และยังเป็นคู่ต่อสู้ที่ประชาชนยังพูดถึงความสนุกสนานและดุเดือดทุกครั้งที่ชกกับ สุวรรณ (ริม) ศ.ยอดใจเพชรนักชกจอมทรหดของบ้านพุมเรียงโดยเฉพาะนักชกคนนี้เคยปะทะกับบุญธรรม วิถีชัย มาแล้ว ปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเวียง อำเภอไชยา
ชิงชัย ณ ศรีวิชัย (เขียน คงทอง) ผู้เคยประหมัดกับ ศักดิ์ชัย นาคพยัคฆ์ ปัจจุบันรับราชการเป็นตำรวจอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต
คล่อง ณ ศรีวิชัย (คล่อง เชื้อกลับ) ดาราศอกกลับเคยชกกับชาญ เลือดเมืองใต้ ปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่หน้าวัดธารน้ำไหล อ.ไชยา
ยก, เทวิน (ไว้), ชาย (ให้) ณ ศรีวิชัย สามพี่น้องตระกูลเผือกสวัสดิ์
นาค, ปรีดา ณ ศรีวิชัย (ศักดิ์เพชร) สองพี่น้องลูกชายคนหนึ่งของยอดมวยเมืองไชยา คือ นายสอน ศักดิ์เพชรโดยนายนาค มี ฉายา ไอ้เป๋ เพราะขาพิการแต่ด้วยเลือดของมวยไชยาโดยแท้ จึงขึ้นเวที่ชกทั้งขาเป๋ และได้รับชัยชนะเป็นส่วนใหญ่ ส่วนน้องชายคือนายปรีดา เป็นนักชกจอมมุทะลุ ปัจจุบันนายนาคเสียชีวิตแล้ว นายปรีดา ดำเนินธุรกิจส่วนตัว ดำเนินธุรกิจส่วนตัวอยู่ที่บ้านสะพานจันทร์ หมู่ที่ 3 ตำบลเวียง อำเภอไชยา นายนุกูล ณ ศรีวิชัย (บุญรักษา) ไอ้เสือหมัดซ้ายผู้เคยต่อสู้กับสมใจ ลูกสุรินทร์
คณะชัยสิทธิ์ ผู้ตั้งค่ายมวยแห่งนี้คือ นายกิมชุ้น ชัยสิทธิ์ ผู้ซึ่งได้รับการฝึกหัดวิชามวยมาจากอาจารย์แสง และนายนุ้ย อักษรชื่น ปัจจุบันเสียชีวิตแล้วที่จังหวัดชุมพร ค่ายนี้มีสาขาแยกออกไป ทั้งตำบลทุ่งและตำบลป่าเว นักมวยเอกของค่ายนี้ที่พอจะรู้ได้ก็มี
มา ใสสะอาด กำนันตำบลป่าเวในปัจจุบัน
แพ ชัยอินทร์ กำนันตำบลตลาดไชยา
พร้อม ไวทยินทร์ ปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านปากด่าน ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา
คณะ ศ.สิงห์ชัย เป็นคณะมวยที่เกิดขึ้นภายหลัง แต่ก็มีนักชกที่มีชื่อเสียง เช่น
นับ ศ.สิงห์ชัย (ทองสาลี) จอมศอกหน้าหยก ปัจจุบันตั้งบ้านเรือนอยู่บ้านดอนโด ตำบลเลม็ด อำเภอไชยา
เบี้ยว ศ.สิงห์ชัย ไอ้กำแพงเมืองจีนของไชยา ผู้เป็นตัวยืนคนหนึ่งที่คอยรับมือนักชกจากต่างถิ่น โดยเฉพาะที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว
นอกจากคณะที่กล่าวมาแล้วก็มีคณะมวยอื่นอีก เช่น ชัยประดิษฐ์ ศ.ยอดใจเพชร แต่ในปัจจุบันนี้นักมวยที่ขึ้นชกที่เป็นนักมวยไชยาแล้วจะใช้คณะอื่นเกือบทั้งหมด เพราะในช่วงนี้ใครที่เคยชกมวยชนะสักครั้งหรือสองครั้งก็สามารถตั้งคณะมวยได้ ซึ่งเป็นการยากที่จะค้นคว้า จึงมีเพียงแต่เฉพาะค่ายมวยที่มีมาแต่เดิม และมีชื่อเสียงมาก่อนมวยไชยายุคปัจจุบัน
หลังจากเวทีที่มวยวัดพระบรมธาตุสิ้นสุดลงวงการมวยไชยาก็เริ่มเสื่อมลงจนถึงทุกวันนี้ จนแทบได้กล่าวว่า มวยดังของไชยากำลังจะหมดไป เพราะขาดผู้สนับสนุนที่แท้จริง ทั้งๆที่คนไชยายังคงมีสายเลือดนักสู้อยู่เต็มตัว ความเป็นเมืองมวยกำลังสูญไปเพราะขาดผู้นำที่จริงจัง รวมทั้งปัญหาที่สำคัญที่ทำให้วงการมวยเสื่อมลงทุกวันนี้ที่เห็นได้เด่นชัดคือการพนันการต่อสู้ผลปรากฏจะอยู่ที่การพนันเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้อยู่ที่ฝีมือนักมวย มวยไชยาจึงเสื่อมถอยลง จึงมีผู้ปรารถนาที่จะปลุกวิญญาณของความเป็นนักสู้ของเมืองมวยในอดีตออกมาแสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ เพื่อที่จะได้นำชื่อเสียงมาสู่เมืองมวยเช่นในอดีต เหมือนที่ หมื่นมวยมีชื่อ เคยทำไว้แต่ก่อน
[แก้] อดีตมวยฝีมือเยี่ยมเมืองไชยา
อดีตมวยฝีมือเยี่ยมเมืองไชยา ที่เป็นที่รู้จักกันดีได้แก่
หมื่นมวยมีชื่อ (ปล่อง จำนงทอง)
นิล ปักษี นักชกผู้พิการ
เนียม ปักษี
นุ้ย อักษรชื่น (ชัยภิรมย์)
หมิก นิลจันทร์ ผู้ลบรอยแค้นให้นายสอน ศักดิ์เพชร เมื่อนายสอน ศักดิ์เพชร ต้องประสบความพ่ายแพ้ให้แก่ หมัดลูกวัวแห่งเมืองสงขลาจนถึงถิ่น นายสอนได้พกพาความแค้นกลับไชยา โดยหวังที่จะกลับไปแก้มือให้ได้ แต่เมื่อข่าวการพ่ายแพ้ของนายสอน รู้ถึงนายหมิก เพื่อนผู้เคยตะลุยเมืองกรุง และเป็นศิษย์ฝีมือเยี่ยมของหมื่นมวยมีชื่อ นายหมิกก็รีบเดินทางไปเมืองสงขลา และขอต่อสู้กับ หมัดลูกวัวในการต่อสู้ครั้งนั้น นายหมิกได้รับชัยชนะอย่างง่ายดาย เมื่อได้รับชัยชนะก็กลายเป็นขวัญใจของผู้ชม และการชกครั้งนั้นเป็นการชกครั้งสุดท้ายของนายหมิก เพราะจากการเที่ยวเมืองสงขลาครั้งนี้เอง นายหมิกก็ได้รับโรคร้ายจนไม่สามารถขึ้นชกมวยได้อีกจนตลอดชีวิต
จ้อย เหล็กแท้ นักชกผู้ไม่ต้องการรางวัล
นอกจากนักชกที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังมีนักมวยฝีมือเยี่ยมและได้รับการกล่าวขวัญถึงอีกหลายคน เช่น
เวช จำนงทอง น้องชายหมื่นมวยมีชื่อ
สงค์ ศักดิ์เพชร พี่ชายนายสอน ศักดิ์เพชร
น้อย บุณยเกตุ หลานชายหมื่นมวยมีชื่อ ผู้เคยเข้าชกมวยคราวหาเงินซื้อปืนให้กองเสือป่า และได้รับ หน้าเสือเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติ
นอกจากนั้นยังมี นายเนิ่น คุ้มรักษ์, นายเวียง, นายนิตย์, นายจอน, นายจัน, นายทอง, นายกล่ำ, คนตำบลบ้านเลม็ด ลูกศิษย์หมื่นมวยมีชื่อ นายเหื้อย, นายหยอย, มวยตำบลบ้านเวียง ลูกศิษย์ นายนุช เทพพิมล และนักมวยที่กล่าวถึงนี้เป็นนักมวยที่เคยเดินทางเข้าเมืองกรุงเพื่อเก็บเงินซื้อปืนให้กองเสือป่าและถ้าใครได้รับชัยชนะก็จะได้ หน้าเสือเป็นเครื่องหมายเชิดชูเกียรติทุกคน
ปัจจุบันมีนักชกที่มีสายเลือด กัณหาเต็มตัวได้แก่ จรรยา ลูกกัณหา ซึ่งเป็นหลานชาย นายคล่องและนายเต็ม และได้กลายมาเป็นนักมวยมีชื่อเสียงของพุมเรียงมาระยะหนึ่ง
[แก้] อาจารย์ชาติชาย-ครูมวยไชยาในยุคปัจจุบัน
ครูท่านเป็นคนสนใจในศิลปะการต่อสู้ตั้งแต่เด็ก ได้ ร่ำเรียนวิชาการต่อสุ้ทั้งในและต่างประเทศ มีโอกาสแข่งขันเพื่อฝึกปรือฝีมือมามากมาย เช่น มวยไทย(ปัจจุบัน),มวยสากล ,เทควันโด , ดาบไทย และอื่นๆที่ท่านสนใจ แต่พื้นฐานเดิมท่านเป็นคนรักวัฒนธรรมไทย และ จุดเปลี่ยนคือท่านได้มาเจอ มวยสายเก่า นั้นก็คือมวยไชยา ครูท่านได้ สืบทอดวิชามวยไทยไชยานี้มาจาก ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย (ผู้ได้รับการยกย่องว่า เป็นปรมาจารย์คนสุดท้ายของวงการมวยไทยไชยา)ท่านจึงตระหนักได้ว่าของไทยนั้นเป็นของดีไม่ได้ด้อยไปกว่าวิชาของต่างชาติเป็นอย่างใด สมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้ เมื่อท่านปรมาจารย์เขตรเสียชีวิตลงก็ได้ มาเรียนต่อกับ ศิษย์เอก นั้นก็คือ ครูทองหล่อยา ต่อมาได้ร่ำเรียน วิชาดาบอาทมาฏ จากครูมาโนชจนแตกฉานและเปิดสำนักเสือคาบดาบอาทมาฏนเรศวร ขึ้นเพื่อสอนเป็นวิทยาทานแก่ผู้ที่สนใจ และเป็นผู้ฝึกสอนให้กับ ทหารรักษาพระองค์อีกด้วย ภายในสำนักไม่ได้สอนแค่ มวยไชยา กับ ดาบอาทมาฏนเรศวร เท่านั้น ยังมีครูท่านอื่นที่เชี่ยวชาญการสอนตามถนัดในแต่ละด้านรวมไปถึง อาวุธไทยเกือบทุกชนิด เช่น พลอง ง้าว ไม้ศอก ตะพด มีด และปืน โดยไม่เคยเก็บค่าสอนใดๆทั้งสิ้น มีแต่ใจเมตตาที่อยากจะรักษาและส่งต่อวิชาให้กับ คนที่มีใจรักในศิลปะการต่อสู้ของไทย
[แก้] ครูแปรง
อาจารย์ณปภพ ประมวญ หรือ ครูแปรงของเหล่าศิษย์มวยไทยทั้งหลายเป็นผู้สืบทอดวิชา สานต่อเจตนารมย์จากบูรพาจารย์ที่สืบสายวิชามวยที่ถูกลืมไปตั้งแต่มีการที่มวยคาดเชือกถูกระงับการแข่งขันให้เปลี่ยนไปใช้กติกาอิงสากล ลูกไม้กลมวย ต่างๆก็สูญหายไปมาก
ครูแปรงเป็นศิษย์ติดตามใกล้ชิด ครูทอง เชื้อไชยา ผู้สืบทอดวิชามวยไทยไชยานี้มาจาก ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย (ปรมาจารย์คนสุดท้ายของวงการมวยไทย) ซึ่งได้เรียนวิชาจากพระยาวจี สัตยรักษ์เจ้าเมืองไชยาผู้เป็นพ่อ รวมทั้งได้เรียนวิชามวยโบราณจากครูอีก 13 ท่านจนแตกฉาน
วิชามวยไทยไชยานี้ นอกจากมือเท้าเข่าศอกที่เห็นได้ทั่วไปในมวยไทยกระแสหลักแล้วยังมีวิชาที่ถูก ลืมอย่างการ ทุ่ม ทับ จับ หักซึ่งมีความร้ายกาจไม่แพ้วิชาการ ทุ่ม การล็อคของศิลปะการต่อสู้อื่น หลักมวยอื่น ๆ ยังมีที่เป็นคำคล้องจองแต่มีความหมายลึกซึ้งทุกคำ อย่าง ล่อ หลอก หลบ หลีก หลอกล่อ ล้อเล่น หรือ กอด รัด ฟัด เหวี่ยง ซึ่งเป็นวิชาการกอดปล้ำแบบหนึ่งซึ่งหาไม่ได้แล้วในมวยไทยสมัยปัจจุบัน หรือแม้กระทั่ง ล้ม ลุก คลุก คลาน ซึ่งเป็นการฝึกม้วนตัว ล้มตัว
มิติการต่อสู้ของมวยโบราณอย่างมวยไทยไชยานั้นจึงไม่จำกัดเฉพาะการยืนต่อสู้เท่านั้น การต่อสู้เมื่อจำเป็นต้องล้มลงก็ทำได้ และด้วยพื้นฐานของมวยไทยโบราณที่ถูกสร้างให้ใช้ในการศึกสงคราม การต่อสู้กับศัตรูพร้อมกันหลายคนนั้นเป็นอีกมิติหนึ่งที่ทำให้มวยไทยไชยา เป็นมวยที่ร้ายกาจ
การเรียนการสอนของมวยไทยไชยานั้นจะเป็นระเบียบ ระบบแบบโบราณ นักเรียนจะได้เรียนตั้งแต่พื้นฐานวิชา เรียนการป้องกันตัว ป้อง ปัด ปิด เปิด จนสามารถป้องกันการโจมตีได้อย่างมั่นใจแล้ว ลูกไม้มวยไทยต่าง ๆ ก็จะค่อยได้เรียนรู้ แตกต่างจากมวยไทยกระแสหลักที่ฝึกฝนการโจมตี เตะ ต่อย ทำลาย โดยอาศัยความทนทานเข้ารับลูกเตะต่อยของคู่ต่อสู้ ดั่งที่ครูแห่งมวยไทยไชยานี้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ศิลปะการป้องกันตัวย่อมต้องป้องกันตัวได้จริง ไม่ใช้ศิลปะการแลกกันว่าใครจะทนกว่ากันก็จะเป็นผู้ชนะไป
ด้วยภูมิ ปัญหาของครูมวยโบราณที่สั่งสม แก้ไข ปรับปรุงจนวิชามวยไทยดั้งเดิมนั้นร้ายกาจ ด้วยกลเม็ด ลูกไม้ ไม้เด็ด หลากหลาย กลมวยสามารถแตกขยายไปได้เหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด ในทางกลับกันนั้นการสั่งสอนวิชาอันร้ายกาจนี้ก็ฝึกฝนให้นักเรียนเป็นคนอดทน มุ่งมั่นใจเย็น สุขุม จนในท้ายที่สุดแล้ววิชามวยแห่งการต่อสู้นี้เป็นอุปกรณ์พัฒนานักเรียนให้เป็น คนดีของสังคม ที่มีสติ ควบคุมกายให้ประพฤติตนดี มีครูสอนสั่ง
ครู แปรงได้วางแผนการสอนวิชาอาวุธที่คู่กับมวยไทยไชยาที่รู้จักกันในชื่อ วิชากระบี่กระบองจาก สำนักดาบเจ้าราม อาทมาตปัตตานี อาทมาฏนเรศวร ดาบสายกรมหลวงชุมพร ฯลฯ ซึ่งมีทั้งวิชา ดาบเดี่ยว ดาบสองมือ มีดสั้น พลองยาว ไม้ศอก รวมถึงอาวุธไทยโบราณแบบอื่นๆที่ไม่น่าจะหาเรียนได้ที่ไหนง่ายๆ เพื่อให้ครบหลักสูตรวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวของไทยโดยแท้
[แก้] ครูเล็ก บ้านช่างไทย
ครูเล็ก หรืออาจารย์กฤดากร สดประเสริฐ เริ่มฝึกมวยไทยตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยเรียนกับพี่ชายคนโต ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของท่านปรมาจารย์กิมเส็ง ทวีศิษย์ (ครูมวยคนสุดท้ายของปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย)
ครูเล็กได้เริ่มเรียนมวยไชยาตั้งแต่อายุ 16 ปี โดยเรียนกับท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย จนเมื่อท่านปรมาจารย์เขตรเสียชีวิตลง ก็ได้เรียนต่อกับคุณครูทองหล่อ ยาและ ศิษย์รักของท่านปรมาจารย์เขตร จนครูเล็กอายุได้ 39 ปี คุณครูทองหล่อ ยาและได้เสียชีวิตลง ครูเล็กจึงเปิดสอนมวยไชยาอย่างเป็นทางการที่บ้านช่างไทยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
[แก้] เกี่ยวกับมวยไชยา
มวยไชยาแตกได้ไม่รู้จบไม่ยึดติดและผันตามความถนัด เช่นครูมวยที่สืบทอดมวยไชยาแต่ละคนแม่นจะเรียนมาจากรากสำนักเดียวกัน แต่ก็มีความชำนาญที่ต่างกัน เป็นเพราะคนเราไม่สามารถที่จะชำนาญได้ทุกศาสตร์อันเป็นข้อจำกัดของร่างกายและความชอบของแต่ละคน ดังเช่น บางสำนักจะเด่นและมีเทคนิคการเตะล่างอันร้ายกาจ บางสำนักก็เน้นไม่ที่ทุ่มทับจับหักและต่อยอดไปทางนอนสู้เอง ดังนั้นแต่ละสำนักก็มีดีกันทั้งนั้น เพราะได้ร่ำเรียนพื้นฐานจากบรมครูสายเดียวกันมา
[แก้] ดูเพิ่ม
[แก้] อ้างอิง

สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่ม 12. กทม. มูลนิธิสารานุกรมไทย ธนาคารไทยพานิชย์. 2542
[1] มูลนิธิมวยไทยไชยา MuayThaiChaiya (บ้านครูแปรง)
[2] บ้านช่างไทย



วันพฤหัสบดีที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2555
มวยไชยา (มวยไทยภาคใต้) 
มวยไชยา
มวยไชยา เป็นมวยไทยโบราณของภูมิปัญญาไทย บรรพบุรุษไทย กษัตริย์ไทยที่สืบทอดกันมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน เพื่อสืบสานต่อไปในอนาคตที่ยั่งยืน มวยไชยาสามารถแบ่งออกเป็น 4 ยุค คือ ยุคเริ่มต้น กำเนิดขึ้นจากพ่อท่านมา หรือหลวงพ่อมาอดีตนายทหารจากพระนครสมัยรัชกาลที่ 3 ฝึกมวยให้กับชาวเมืองไชยา ยุคเฟื่องฟูในช่วงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอุรุพงศ์รัชสมโภช จากนั้นได้พระราชทานบรรดาศักดิ์ แก่นักมวยจากเมืองไชยา คือ นายปรง เป็นหมื่นมวยมีชื่อ ตำแหน่งกรรมการพิเศษ เมืองไชยา ถือศักดินา 300 ยุคเปลี่ยนแปลงในช่วงรัชสมัยพระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เกิดขึ้นเพราะต้องรื้อเวที และพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) เจ้าอาวาสเจ้าอาวาสวัดไชยามรณภาพลง

มวยไทยไชยาจึงสิ้นสุดลงด้วยยุคอนุรักษ์หลังจากสิ้นสุดสมัยพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) มวยไทยไชยาเริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของชาวไชยา อย่างไรก็ตามยังมีผู้ที่เคยเรียนมวยไทยไชยา แล้วนำมาสืบทอดต่ออีกหลายท่าน เช่น ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย นายทองหล่อ ยา และนายอมรกฤต ประมวล นายกฤษดา สดประเสริฐ นายอเล็กซ์ สุย และพันเอก อำนาจ พุกศรีสุข เป็นต้น

นักมวยที่มีชื่อเป็นที่รู้จักได้แก่ หมื่นมวยมีชื่อ นายปล่อง จำนงทอง ผู้มีท่าเสือลากหางเป็นอาวุธสำคัญการต่อสู้เน้นวงในใช้ความคมของศอก เข่า ประวัติมวยไชยาสืบค้นได้ถึง พระยาจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) เจ้าเมืองไชยา ในสมัยรัชกาลที่ 5 ถ่ายทอดมายังบุตรชายคือ ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย ซึ่งภายหลังย้ายมาตั้งรกรากที่กรุงเทพ ฯ เผยแพร่มวยไชยาแก่ศิษย์มากมายจนกระทั่งถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.2521

เอกลักษณ์ของมวยไชยา

เอกลักษณ์ของมวยไชยา พบว่ามีอยู่ 7 ด้าน คือ การตั้งท่ามวยหรือการจดมวย ท่าครูหรือ ท่าย่างสามขุม การไหว้ครูร่ายรำ การพันมือแบบคาดเชือก การแต่งกาย การฝึกซ้อมมวยไชยาและแม่ไม้มวยไชยา กระบวนท่ามวยไชยามีทั้งหมด 5 ชุด คือ แม่ไม้มวยไทยไชยา 7 ท่า ได้แก่ ปั้นหมัด พันแขน พันหมัด กระโดดตบศอก พันหมัดพลิกเหลี่ยม เต้นแร้งเต้นกา ย่างสามขุม ท่าที่สำคัญคือท่า เสือลากหาง เคล็ดมวยไชยาที่ใช้ป้องกันได้ดีที่สุดคือ ป้อง ปัด ปิด เปิด (จัตุชัย จำปาหอม, 2550)
มวยลพบุรี (มวยไทยภาคกลาง)
มวยลพบุรี
มวยลพบุรี มีวิวัฒนาการและเกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง ทำให้มวยลพบุรีแบ่งช่วงเวลาต่าง ๆ ตามความสำคัญเป็น 4 ช่วง คือ ช่วงที่ 1 อยู่ระหว่างปีพุทธศักราช 1200 ถึง 2198 นับเป็นช่วงเริ่มต้นของมวยลพบุรี มีปรมาจารย์สุกะทันตะฤาษี เป็นผู้ก่อตั้งสำนักขึ้นที่ เขาสมอคอน เมืองลพบุรี มีลูกศิษย์รุ่นสุดท้ายคือ พ่อขุนรามคำแหงมหาราช ช่วงที่ 2 อยู่ระหว่างปีพุทธศักราช 2199 ถึง 2410 ถือเป็นช่วงสืบทอดของมวยลพบุรี ในสมัยนี้ สมเด็จพระนารายณ์ มหาราช พระมหากษัตริย์ ที่ส่งเสริมมวยลพบุรี อย่างกว้างขวาง มีการจัดการแข่งขันโดยกำหนดขอบสังเวียนและมีกติกาการแข่งขัน

โดยมีพระพุทธเจ้าเสือ พระมหากษัตริย์ อีกพระองค์หนึ่งที่สนับสนุนมวยไทยและชอบชกมวยและมักปลอมพระองค์ไปชกมวยกับชาวบ้านอยู่เป็นประจำ ช่วงที่ 3 อยู่ระหว่างปีพุทธศักราช 2411 ถึง 2487 เป็นช่วงพัฒนาของมวยลพบุรี ช่วงนี้มวยลพบุรี โด่งดังมากและเฟื่องฟูจนถึงขีดสุด โดยเฉพาะในรัชสมัยของพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระองค์เรียนวิชามวยไทยจากปรมาจารย์หลวงมลโยธานุโยค

เอกลักษณ์ของมวยลพบุรี

เอกลักษณ์ของมวยลพบุรี เป็นมวยที่ชกฉลาด รุกรับคล่องแคล่วว่องไว ต่อยหมัดตรงได้แม่นยำ เรียนลักษณะการต่อยมวยแบบนี้ว่า มวยเกี้ยว ซึ่งหมายถึง มวยที่ใช้ชั้นเชิงเข้าทำคู่ต่อสู้ โดยใช้กลลวงมากมายจะเคลื่อนตัวอยู่เสมอ หลอกล่อหลบลีกได้ดี สายตาดี รุกรับและออกอาวุธ หมัด เท้า เข่า ศอก ได้อย่างรวดเร็ว สมกับฉายา ฉลาดลพบุรี เอกลักษณ์ที่เห็นชัดเจนอีกประการหนึ่งก็คือ มีการพันมือครึ่งแขน แต่ที่เด่นและแปลกกว่ามวยสายอื่น ๆ ก็คือ การพันคาดทับข้อเท้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของมวยลพบุรี (ชนทัต มงคลศิลป์, 2550)
มวยโคราช (มวยไทยภาคอีสาน)
มวยโคราช
มวยไทยโคราช เป็นการต่อสู้แบบมือเปล่าที่พันด้วยเชือกหรือด้ายดิบของชนชาติไทยในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั่วประเทศในสมัยรัชกาลที่ 5 – 6 มวยไทยโคราช เป็นมวยที่มีมาในประวัติศาสตร์ไทยมาช้านานเป็นศิลปะมวยไทยที่มีชื่อเสียงตลอดมาเท่ากับมวยลพบุรี มวยอุตรดิตถ์ มวยไชยา ซึ่งมีนักมวยจากหัวเมืองคือเมืองโคราชได้สร้างชื่อเสียง

จากการไปแข่งขันชกมวยในพระนครโดยชกชนะนักมวยภาคอื่น ๆ นับไม่ถ้วน ซึ่งล้วนแต่มีชื่อเสียงโด่งดังทั้งสิ้น โดยเริ่มตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงครองราชย์ พ.ศ.2411 พระองค์ทรงโปรดกีฬามวยไทยมาก การฝึกหัดมวยไทยแพร่หลายไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศทรงจัดให้ทีการแข่งขันชกมวยหน้าพระที่นั่งในงานศพของพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์อุรุพงษ์รัชสมโภช ในวันที่ 18 – 21 มีนาคม ร.ศ.128 (พ.ศ.2452) ณ ทุ่งพระรุเมรุ นักมวยที่เจ้าเมืองต่าง ๆ นำมาแข่งขันล้วนแต่คัดเลือกคนที่มีฝีมือดีจากทั่วประเทศ การแข่งขันครั้งนี้ได้นักมวยที่สามารถชกชนะคู่ต่อสู้หลายคนเป็นที่พอพระราชหฤทัยของพระองค์ และโปรดเกล้า ฯ พระราชทานยศและบรรดาศักดิ์ให้กับนักมวยมณฑลนครราชสีมาเมืองโคราชเป็นขุนหมื่นครูมวย คือ หมื่นชงัดเชิงชกถือศักดินา 300 คือ นายแดง ไทยประเสริฐ ลูกศิษย์คุณพระเหมสมาหารเจ้าเมืองโคราช มีชื่อเสียงในการใช้หมัดเหวี่ยงควาย

อีกทั้งยังมีนักมวยโคราชที่มีความสามารถจนได้เป็นครูสอนพลศึกษา ในโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จนถึงเกษียณอายุราชการ รวมเวลาถึง 28 ปี คือ ครูบัว นิลอาชา (วัดอิ่ม) และยังมีมวยโคราชที่มีฝีมือดี เป็นที่ชื่นชอบของผู้คนเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ถึงกับเป็นครูสอนมวยไทยให้กับนักมวยจากเมืองโคราชที่วังเปรมประชากร เช่น นายทับ จำเกาะ นายยัง หาญทะเล นายตู้ ไทยประเสริฐ นายพูน ศักดา เป็นต้น

มวยโคราชคาดเชือกยุคฟื้นฟูอนุรักษ์ สมัยรัชกาล 9 ถึงปัจจุบัน ไม่มีการฝึกซ้อมที่เมืองโคราช แต่ยังมีลูกศิษย์ครูบัว วัดอิ่ม (นิลอาชา) คือ พันเอกกำนาจ พุกศรีสุข ทำการถ่ายทอดมวยโคราชคาดเชือกให้กับผู้ที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ เพื่อฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสาน อยู่ที่ สยามยุทธ์ กรุงเทพ ฯ ทุกวัน ครูเช้า วาทโยธา ที่ยังอนุรักษ์ สืบสาน ถ่ายทอด มวยโคราช ให้กับลูกศิษย์ และผู้ที่สนใจเป็นประจำที่โรงเรียนบ้านไผ่ อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น พร้อมทั้งเปิดสอนในวิชาเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 4 ปีละ 450 คน

เอกลักษณ์มวยไทยโคราช

เอกลักษณ์มวยไทยโคราช พบว่า สวมกางเกงขาสั้น ไม่สวมเสื้อ สวมมงคลที่ศีรษะขณะชก การพันหมัดแบบคาดเชือก ตั้งแต่หมัดขึ้นไปจรดข้อศอก เพราะมวยโคราช เป็นมวยต่อยวงกว้าง และใช้หมัดเหวี่ยงควาย การพันเชือกเช่นนี้ เพื่อป้องกันการเตะ ต่อยได้ดี การฝึกฝึกจากครูมวย

ในหมู่บ้าน ต่อจากนั้นจึงได้รับการฝึกจากครูมวยในเมือง ขั้นตอนการฝึกโดยใช้ธรรมชาติ เมื่อเกิดความคล่องแคล่วแล้วทำพิธียกครู แล้วให้ย่างสามขุมและฝึกท่าอยู่กับที่ 5 ท่า ท่าเคลื่อนที่ 5 ท่า ฝึกลูกไม้แก้ทางมวย 11 ท่า ฝึกท่าแม่ไม้สำคัญ ประกอบด้วย ท่าแม่ไม้ครู 5 ท่า และท่าแม่ไม้สำคัญ โบราณ 21 ท่า แล้วมีโคลงมวยเป็นคติสอนนักมวยด้วย พร้อมคำแนะนำ เตือนสติไม่ให้เกรงกลัวคู่ต่อสู้ (เช้า วาทโยธา, 2550)
มวยท่าเสา(มวยไทยภาคเหนือ)
มวยท่าเสา
มวยไทยท่าเสา เป็นสายมวยไทยภาคเหนือ ที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าสายมวยไทยท่าเสากำเนิดขึ้นเมื่อใดใครเป็นครูมวยคนแรกแต่จากหลักฐานที่ปรากฏอยู่ทำให้ทราบว่าครูมวยไทยสายท่าเสาที่มีชื่อเสียงโด่งดังคนหนึ่งคือ ครูเมฆที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นในเรื่องความคล่องแคล่วว่องไว รวดเร็ว เด็ดขาด มีลีลาท่าทางสวยงามและมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้เตะ ถีบ และศอก เป็นที่ลือกระฉ่อนจนนายทองดี เองถึงกับปฎิญาณกับตัวเองว่าจะต้องมาขอเรียนศิลปะมวยไทยกับสำนักท่าเสาให้ได้ และก็ได้มาเป็นลูกศิษย์ของครูเมฆผู้ประสิทธิประสาทวิชามวยไทยให้แก่ นายทองดี ซึ่งได้นำความรู้ที่ได้รับไปผสมผสานกับมวยจีนอีกต่อหนึ่ง

เมื่อนายทองดีได้เป็นเจ้าเมืองพระยาพิชัย ก็ได้มาคารวะครูเมฆและแต่งตั้งให้ครูเมฆเป็นกำนันปกครองตำบลท่าอิฐต่อไป ครูเมฆได้ถ่ายทอดวิชาให้แก่ผู้สืบสกุลต่อมาจนถึงครูเอี่ยม ครูเอี่ยมถ่ายทอดแก่ผู้สืบสกุลคือครูเอม ครูเอมถ่ายทอดแก่ผู้สืบสกุลคือครูอัด คงเกตุ ซึ่งเมื่อครูอัด คงเกตุ และลูกศิษย์มาชกมวยในกรุงเทพฯ ก่อนสงครามโลก ครั้งที่ 2 ได้ใช้ซื่อค่ายมวยว่า เลือดคนดง ครูเอมยังได้ถ่ายทอดวิชามวยไทยให้แก่หลานตาอีก 5คน รุ่นราวคราวเดียวกับครูอัด ทั้ง 5คน เป็นนักมวยตระกูล เลี้ยงเชื้อ ซึ่งต่อมา กรมหลวงชุมพร ฯ ได้เปลี่ยนให้เป็น เลี้ยงประเสริฐ เป็นบุตรนายสอน นางขำ (ลูกครูเอม) สมพงษ์ แจ้งเร็ว เขียนกล่าวว่า ทั้ง 5 คน เป็นยอดมวยเชิงเตะ มีกลเม็ดเด็ดพรายแพรวพราวทุกกระบวนท่าที่ได้สืบทอดมาจากสำนักท่าเสาของครูเมฆจนมีชื่อเสียงลือลั่นในช่วงเวลานั้น ทั้ง 5คน ได้แก่

1. ครูโต๊ะ เกิดประมาณ พ.ศ.2440 เป็นบุตรคนที่ 2 ของนายสอนและนางขำ เป็นนักมวยที่มีอาวุธหนักหน่วงและเชิงเตะ เข่า และหมัดรวดเร็ว
2. ครูโพล้ง เกิดปี พ.ศ.2444 มีอาวุธมวยไทยรอบตัว โดยเฉพาะลูกเตะที่ว่องไว และรุนแรง และความสามารถในการถีบอย่างยอดเยี่ยม จนได้รับฉายาว่า มวยตีนลิง ครูโพล้งมีเอกลักษณ์การไหว้ครูร่ายรำตามแบบฉบับของสำนักท่าเสา ในจำนวน 5 คน ครูโพล้ง มีฝีมือยอดเยี่ยมที่สุด เมื่อมาชกกรุงเทพ ฯ เคยชนะ นายสร่าง ลพบุรี และครูบัว วัดอิ่ม เคยชนะนายสิงห์วัน ประตูเมืองเชียงใหม่ ที่เชียงใหม่ และนายผัน เสือลาย ที่โคราช แต่เคยพลาดท่าแพ้ นายสุวรรณนิวาสวัด ที่กรุงเทพ ฯ ครั้งหนึ่ง เพราะโดนจับขาเอาศอกถองโคนขาจนกล้ามเนื้อพลิก
3. ครูฤทธิ์ เกิดปี พ.ศ.2446 มีฝีมือไม่ยิ่งหย่อนกว่าพี่น้องทั้งหลาย เคยชกชนะหลายครั้งที่กรุงเทพ ฯ และเคยชกเสมอ บังสะเล็บ ครูมวยคณะศรไขว้ (ลูกศิษย์ครูแสง อุตรดิตถ์ ผู้สืบทอดสายมวยพระยาพิชัยดาบหัก)
4. ครูแพ เกิดปี พ.ศ.2447 เป็นนักมวยเลื่องชื่อระดับครูโพล้ง เคยปราบ บังสะเล็บ ศรไขว้ ชนิดที่คู่ต่อสู้บอบช้ำมากที่สุด และชก นายเจียร์ พระตะบอง นักมวยแขกครัวเขมร ถึงแก่ความตายด้วยไม้หนุมานถวายแหวน ทางราชการจึงกำหนดให้มีการสวมนวมแทนคาดเชือก ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
5. ครูพลอย เกิดปี พ.ศ.2450 เป็นมวยที่คล่องแคล่วว่องไวในเชิงเตะ ถีบ และหมัด เนื่องจาก ครูโพล้ง เป็นผู้ถ่ายทอดเชิงชกให้ด้วย ครูพลอยถึงถอดแบบการใช้เท้าจากครูโพล้ง ครูพลอยเคยมาชกชนะในกรุงเทพ ฯ หลายครั้งแต่ก็ได้ถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง 24 ปีเท่านั้น

นอกจากครูโพล้งและพี่น้องได้ร่วมกันสอนเชิงมวยให้แก่ลูกศิษย์หลายคนที่มีชื่อเสียงแล้วยังมีศิษย์สำนักท่าเสาอีกหลายคนคือ นายประพันธ์ เลี้ยงประเสริฐ นายเต่า คำฮ่อ (เชียงใหม่) นายศรี ชัยมงคล ผู้เป็นเพื่อนสนิทของครูพลอยและเป็นผู้ที่ ผล พระประแดง ยอมรับว่าเจ็บตัวมากที่สุดเมื่อได้ชกแพ้ นายศรี อย่างสะบักสะบอม ชนิดที่ไม่เคยเกิดขึ้นในชีวิตการต่อสู้เลย เพราะนายศรี มีอาวุธหนักหน่วงเกือบทุกอย่างและรวดเร็ว อีกทั้งยังมีเชิงมวยสูงมากด้วย

ครูมวยจากสายท่าเสาทั้ง 5 ได้จากไปหมดแล้ว โดยครูพลอย ถึงแก่กรรมตั้งแต่ยังหนุ่ม หลังจากนั้นก็ตามด้วย ครูฤทธิ์ สำหรับครูโต๊ะก่อนถึงแก่กรรมได้บวชจนได้เป็นเจ้าอาวาสวัด คุ้งตะเภา ครูแพ ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.2520 และครูโพล้ง ถึงแก่กรรม เมื่อปี พ.ศ.2522 มีอายุได้ 78 ปี ก่อนถึงแก่กรรม คณะกรรมการจัดงานพระยาพิชัยดาบหัก ซึ่งจัดให้มีการแข่งขันชกมวยประจำปี จะเชิญ ครูโพล้ง ขึ้นไปไหว้ครูร่ายรำตามแบบฉบับของสำนักมวยท่าเสาให้คนชมทุกปี หลังจากการจากไปของครูโพล้ง มวยไทยสายท่าเสา ได้ลดบทบาทลงไปอย่างมาก ยิ่งครูมวยใน

ปัจจุบันสอนมวยตามแบบฉบับของสายมวยอื่น ๆ มวยไทยสายครูเมฆ แห่งสำนักท่าเสาก็ยิ่งถูกลืมเลือนไป แม้แต่ชาวอุตรดิตถ์เองปัจจุบันยังไม่สามารถทราบหรือบอกความแตกต่างของมวยท่าเสากับมวยสายอื่น ๆ ได้เลย

เอกลักษณ์ของมวยสายท่าเสา (มวยไทยภาคเหนือ)

เอกลักษณ์ของมวยสายท่าเสา การไหว้ครูจะไหว้พระแม่ธรณีก่อนทำพิธีไหว้ครู การไหว้ครูมวยท่าเสาจะไหว้บรมครูก่อนคือ พระอิศวร เพราะถือว่าพระอิศวรเป็นผู้ประสิทธิประสาทวิชาการต่อสู้แบบฉบับมวยท่าเสา การกราบพระรัตนตรัย จะกราบในทิศหรดี(ทิศตะวันตกเฉียงใต้) ซึ่งเป็นทิศที่ผีฟ้าไม่ข้าม การนับหน้าไหว้ครูไปทางทิศตะวันออกซึ่งเป็นไปตามประเพณีของพราหมณ์ ในการเห็นหน้าโบราณสถาน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สอดคล้องกับความเชื่อว่าบรมครูของมวยท่าเสามีพระอิศวรและทิศตะวันออกเป็นทิศที่พระอาทิตย์ส่องแสงมาสู่โลก และมวลมนุษย์เป็นสัญญาลักษณ์ของวันใหม่และจุดเริ่มต้นที่เป็นมงคล หรือนักมวยก่อนกราบจะหันหน้าเข้าหาดนตรี ปี่ กลอง เพราะถือว่า ดนตรี ปี่ กลอง ได้ไหว้ครูหรือพระอิศวรแล้ว การจดมวยของมวยท่าเสามือซ้ายนำและสูงกว่ามือขวา เมื่อเปลี่ยนเหลี่ยมมือขวานำและสูงกว่ามือซ้าย เมื่อตั้งมวยได้ถูกต้องและย่างแปดทิศได้คล่องแคล่วว่องไวแล้ว

นักมวยจะต้องฝึกท่ามือสี่ทิศพร้อม ๆ กัน กับการจดมวยและย่างแปดทิศ ท่ามือต้องออกด้วยสัญชาตญาณเพื่อให้เกิดการหลบหลีก ปัด ป้อง ปิดในการป้องกันตัว การคาดเชือกสายมวยท่าเสาต้องเอาเชือกด้านตราสังผีมาลงคาถาอาคมแล้วบิดให้เขม็งเกลียง

หลังจากนั้นเอามาขดก้นหอย 4 ขด แล้วเอาด้ายตราสังมาเคียนทำเป็นวง 4 วง รองข้างล่างก้นหอยอีกทีหนึ่ง เพื่อสวมเป็นสนับมือ เมื่อสวมนิ้วมือแล้วก็เอาด้ายตราสังมาเคียนทับอีกทีหนึ่ง จากนั้นเชือกที่คาดจะต้องลงรักและคลุกน้ำมันยาง จากนั้นก็คลุกแก้วบดอีกทีหนึ่งเป็นอันเสร็จพิธีคาดเชือก นักมวยสายท่าเสาจะต้องเสกพริกไทย 7 เม็ด กินทุกวันเพื่อให้อยู่ยงคงกะพันและเสกคาถากระทู้ 7 แบกประจำทิศบูรพา คือ อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา 15 จบ ก่อนขึ้นชกต้องเสกหมากหรือว่านเคี้ยวกินด้วยคาถาฝนแสนห่า ประจำทิศอาคเนย์ 8 จบ คือ ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง ครูอาจเสกแป้งประหน้านักมวยก่อนชกด้วยนะจังงัง มวยท่าเสาอาจจะสูญสิ้นไปหากไม่มีการอนุรักษ์ สืบสาน ตำนานมวยลาวแกมไทย ตีนไวเหมือนหมาเอาไว้ ลาวแกม หมายถึงคนเมืองอุตรดิตถ์ ซึ่งมีคนเมือง คนไทยภาคกลาง และคนลาวอยู่ร่วมกัน โดยคนเมืองอยู่เหนือแม่น้ำน่าน คนไทยอยู่ใต้แม่น้ำ และคนลาวอยู่ทางตะวันออก จึงมีการผสมผสานวัฒนธรรม ประเพณี และภาษาเข้าด้วยกัน ทั้งยังมีการแต่งงานระหว่างกันด้วย ทำให้คนอุตรดิตถ์มีลักษณะลาวแกมไทย” (สมพร แสงชัยและคณะ, 2545)
http://muaythaionlines.blogspot.com/